Written by 2:15 am ประวัติศาสตร์, สิ่งแวดล้อม

มองย้อนยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ สู่วิวัฒนาการกำเนิดมนุษย์

66 ล้านปีก่อนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์สัตว์ขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า ไดโนเสาร์ ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนถือกำเนิดเกิดทัน เพราะเป็นยุคก่อนจะมีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ จนกลายมาเป็นสัตว์ยืดตัวเดินขนานกับพื้นโลกด้วยสองเท้า แต่ด้วยผลจากการศึกษาทำให้เราได้รู้ว่า ก่อนที่มาถึงยุคมวลมนุษย์นั้น ได้มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ แต่ต้องสิ้นสุดหมดยุคไปเพราะการพุ่งชนโลกของอุกกาบาตยักษ์ จนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ชื่อ Chicxulub (ชิกซูลุบ) ซึ่งอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตันของประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน 

เรารู้กันมาว่าอุกกาบาตพุ่งชนโลกคือสาเหตุของการสูญพันธุ์ไดโนเสาร์ แต่เมื่อมีนักวิจัยทำการศึกษาในเบื้องลืกลงไป โดยการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติและการทำแผนที่แสดงข้อมูลการแพร่พันธุ์ไดโนเสาร์ ที่เริ่มจากถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริการใต้ไปตลอดจนทุกมุมโลก พบว่าการแพร่กระจายของประชากร รวมไปถึงการขยายอาณาเขตของพวกมันเอง ที่เป็นสาเหตุทำให้จำนวนประชากรไดโนเสาร์ต่ำลง และการเกิดสายพันธุ์ใหม่น้อยลงเช่นกัน ก่อนที่อุกกาบาตยักษ์จะพุ่งชนโลกเสียอีก จนกระทั่งสูญพันธุ์อย่างถาวรเพราะเหตุการณ์อุกกาบาตชนโลก

ดร.คริส เวนดิตติ จากมหาวิทยาลัยเรดดิงของสหราชอาณาจักร ผู้ที่มีส่วนร่วมในการเขียนรายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology and Evolution ได้ชี้ว่า เผ่าไดโนเสาร์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีการแพร่กระจายและขยายเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากโลกยังมีพื้นที่กว้างอยู่มากในยุคนั้น ไร้ศัตรูคู่แข่งจากสัตว์ชนิดอื่น ทั้งจากการแย่งชิงพื้นที่อาศัย อาหาร และทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้พวกมันใช้สิทธิ์นั้นในการครอบครองพื้นที่ไปทั่วทุกมุมโลก จนในรุ่นสืบสายพันธุ์ถัดมาไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้อีก บวกด้วยนิสัยที่ยึดติดกับความคุ้นเคยในถิ่นฐาน จนไร้การปรับตัวที่จะนำไปสู่วิวัฒนาการสายพันธุ์ใหม่ ๆ นอกจากไดโนเสาร์พันธุ์มีปีกบินเท่านั้นที่ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของนกจนถึงปัจจุบัน 

แต่ศาสตราจารย์ เดวิด มาร์ทิลล์ จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ และนักวิทยาศาสตร์บางส่วนกลับไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร.คริส เวนดิตติ โดยกล่าวว่า “ไดโนเสาร์มีความหลากหลายของสายพันธุ์สูงตลอดในช่วงเวลาของยุคครีเทเชียส จนกระทั่งอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก” ด้วยเหตุนี้ทำให้ความคิดเห็นมีการแตกออกเป็นสองฝ่าย และยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ 

ล่าสุดได้มีทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในประเทศอังกฤษ ได้เปิดเผยถึงการค้นพบข้อมูลใหม่ หลังจากได้ทำการศึกษาฟอสซิลปลาจากแหล่งฟอสซิลแทนิสในรัฐนอร์ทดาโกตาของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน จนสามารถระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดของการเกิดภัยพิบัติ ที่เป็นสาเหตุทำให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ โดยได้ระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ (ช่วงเดือน มี.ค.- มิ.ย.) ซึ่งเป็นฤดูของการหาอาหาร และการขยายพันธุ์สัตว์และพืชทุกชนิด และยังเป็นช่วงเวลาแห่งการกำเนิดสายพันธุ์ด้วย (ออกลูก) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมการพุ่งชนโลกของอุกกาบาตครั้งนั้นถึงทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จนหมดสิ้น และส่งผลกระทบต่อโลกได้อย่างมหาศาล ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมใหม่ของโลกเลยทีเดียว เพราะเป็นการสิ้นสุดแห่งยุค Cretaceous-Paleogene extinction event (ยุคครีเทเชียส-พาลีโอจีน) จน 75% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกล้มตายและสูญพันธุ์ไปตลอดกาล 

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบได้จากอะไร 

จากที่ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้เปิดเผยข้อมูล หลังจากศึกษาเส้นเจริญเติบโตในฟอสซิลกระดูกปลาดังกล่าว เพื่อคำนวณในช่วงเวลาที่พวกมันตายนั้นอยู่ในช่วงฤดูกาลใด จากหลักฐานที่พบได้ว่า เส้นเจริญเติบโตสุดท้ายในฟอสซิลกระดูกปลามีสีอ่อน สามารถบ่งบอกได้ว่าปลาเหล่านั้นได้ตายลงในช่วงการขยายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโต ซึ่งก็คือฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลินั่นเอง และจากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ โรเบิร์ต เดอพาลมา นักศึกษาปริญญาเอก ผู้นำทีมวิจัยได้กล่าวว่า แม้ว่าการสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ด้วยการสูญพันธุ์เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเช่นกัน และเชื่อว่าการค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถหาวิธีและแนวทางในการเตรียมตัว เพื่อรับมือกับมหันตภัยทางระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ เช่น การป้องกันอุกกาบาตชนโลก เป็นต้น 

(Visited 54 times, 1 visits today)
Last modified: September 29, 2022
Close