Written by 2:41 am บทความเด่น, บ้านและสวน, เศรษฐศาสตร์, ไลฟ์สไตล์

อะไรคือการเผายาหน้าท้อง ประโยชน์ดีต่อการรักษาด้านใด ใครเหมาะและไม่เหมาะต่อวิธีการเผายาบ้าง 

Picture1

หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าในปัจจุบันแพทย์แผนไทยสามารถทำการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดี มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากส่วนใหญ่แพทย์จะทำการรักษาด้วยศาสตร์แห่งสมุนไพร และวิธีการหัตถการเพื่อทำการรักษา โดยแพทย์จะทำการประเมิน วินิจฉัยโรค และทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วย อย่างอาการข้างต้น แพทย์แผนไทยจะทำการรักษาโรคทางเดินอาหาร ด้วยวิธีการหัตถการ ศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่นิยม คือ “การเผายาหน้าท้อง” ร่วมกับการกดจุด เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้กับผู้ป่วย 

สำหรับใครที่มักจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย รักษามานาน กินยาเท่าไรก็ไม่หาย เมื่อรักษาทางแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถช่วยให้หายจากอาการเหล่านี้ได้ อาจต้องหันมาพึ่งการแพทย์ทางเลือก หรือ แพทย์แผนไทย การันตีว่ามีดีไม่แพ้แพทย์ปัจจุบัน แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเผายาคืออะไร ประโยชน์และข้อเสียมีอะไรบ้าง ใครทำได้และใครไม่ควรทำ 

2. หัตถการเผายาสมุนไพร RESIZE 960x540

เผายาคือออะไร 

การเผายา คือ ศาสตร์การรักษาทางแพทย์แผนไทยอย่างหนึ่ง โดยมีหลักการเพิ่มธาตุไฟให้กับร่างกาย ด้วยการใช้ความร้อนจากไฟผ่านเครื่องยาสมุนไพรฤทธิ์ร้อนในบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งจะทำในบริเวณที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จุดกำเนิดเส้นประธานสิบตามหลักแพทย์แผนไทย เช่น หน้าท้อง (รอบสะดือ) กล้ามเนื้อบ่า ขา หัวเข่า แผ่นหลัง เป็นต้น 

การเผายาใช้สมุนไพรอะไรบ้าง 

แนวทางการรักษาด้วยการเผายา คือ การใช้ความร้อนจากไฟผ่านสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย และมีฤทธิ์ร้อน ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ซึ่งเป็นการเพิ่มความร้อนจากภายนอก เพื่อเพิ่มธาตุไฟ กระจายลม ลดภาวะบวมน้ำ ปรับความสมดุลร่างกาย รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะธาตุไฟหย่อน มีอาการของลมเยอะ เพราะความร้อนจะช่วยกระตุ้นให้ลมมีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยตัวยาและสมุนไพรที่ใช้ในการเผายา ได้แก่ 

  • น้ำมันไพล
  • ขิง
  • ข่า
  • ขมิ้น 
  • ตะไคร้ 
  • ผิวมะกรูด 
  • เหง้ากระทือ
  • เกลือ
  • การบูร
  • แอลกอฮอล์ (สำหรับจุดไฟ) 

ขั้นตอนการเผายามีอะไรบ้าง 

วิธีการรักษาด้วยการเผายา แพทย์แผนไทยผู้ชำนาญการโดยเฉพาะ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และประเมินผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการเผายาหรือไม่ หากผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดหรือโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง มะเร็งลำไส้ หรือโรคที่เกี่ยวกับการไหลของเลือด รวมถึงผู้ที่มีกำเดากำเริบ แพทย์จะไม่อนุญาตให้ทำการรักษาด้วยการเผายาเด็ดขาด และทุกขั้นตอนจะต้องอยู่ภายใต้การดูแล และทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยสามารถรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว จะมีการเตรียมขั้นตอนการเผายา ดังนี้ 

1. เตรียมอุปกรณ์ 

  • สมุนไพรที่ใช้เผายาทั้งหมด 
  • น้ำมันไพล 
  • ผ้าขนหนูหมาดน้ำ 3 – 4 ผืน 
  • แอลกอฮอล์จุดไฟ 
  • ไฟแช็ก 

2. วิธีเผายา 

  • สับสมุนไพร ขิง ข่า ขมิ้นชัน ตะไคร้ กระทือ ผิวมะกรูด ให้ละเอียด  
  • นำสมุนไพรที่สับละเอียดคลุกกับการบูรให้เข้ากันดี
  • เตรียมผิวและไล่ลมเบื้องต้น ด้วยการนวดน้ำมันไพลบริเวณที่จะทำการเผาไฟ ประมาณ 5 – 10 นาที 
  • ม้วนผ้าหมาดน้ำ แล้ววางให้เป็นกรอบล้อมบริเวณที่จะทำการเผาไฟรักษาโรค 
  • นำสมุนไพรที่จะเผาใส่ลงไปบนผ้าขนหนูที่ล้อมไว้ให้เต็มช่อง 
  • เกลี่ยสมุนไพรให้เสมอกัน
  • วางผ้าหมาดน้ำผืนที่เหลือคลุมบริเวณที่จะเผาไฟ 
  • ฉีดพรมแอลกอฮอล์บนผ้าขนหนูในตำแหน่งที่วางเครื่องยา 
  • จุดไฟ และคลึงเครื่องยาเพื่อให้ความร้อนเผาเครื่องยาอย่างทั่วถึง และรอไฟดับ 
  • จุดไฟและคลึงยาประมาณ 5 – 7 รอบ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน 

ระหว่างที่ทำการเผายา แพทย์จะคอยหมั่นสังเกตอาการคนไข้ตลอดเวลา และถามอาการคนไข้เรื่อย ๆ เพราะบางคนอาจรู้สึกไม่สบายตัว หรือรู้สึกไม่ไหว แพทย์ก็จะยุติการเผายา และเมื่อทำการเผายาเสร็จเรียบร้อย คนไข้ไม่ควรอาบน้ำทันที และจะต้องงดอาหารฤทธิ์เย็น เช่น น้ำเย็น น้ำปั่น แตงโม แตงกวา ฯลฯ เพราะความเย็นจะแผลงฤทธิ์ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดลม ทำให้การรักษาด้วยการเผายาไม่ได้ผล 

7365626589417 1024x682 1

เผายาหน้าท้องช่วยอะไร 

หลัก ๆ ของการรักษาด้วยการเผายา ประโยชน์ช่วยในการไล่ลม ช่วยกระจายลมที่คั่งค้างตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บรรเทาอาการเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก รักษาโรคทางเดินอาหาร ปรับสมดุลร่างกาย แก้อาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย 
  • อาการภูมิแพ้อากาศ หอบหืด 
  • ธาตุไฟอ่อน สะบัดร้อน สะท้านหนาว 
  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก 
  • กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • อาการเบื่ออาหาร 
  • ลดภาวะบวมน้ำ 
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบขับถ่าย แก้ปัญหาระบบลำไส้ อุจจาระผิดปกติ

ใครที่เหมาะกับการรักษาด้วยการเผายา 

  • ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำ
  • ผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม
  • ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป
  • ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับเลือดลมไหลเวียนไม่ดี 
  • ผู้ที่มีภาวะความเครียด ต้องการผ่อนคลาย 
  • ผู้ที่มีอาการโรคทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูก 
  • ผู้ที่ไม่ต้องการทานยาหรือรักษาด้วยเคมี 
  • ผู้ที่มีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่มีสาเหตุ

ใครที่ไม่เหมาะกับการรักษาด้วยการเผายา 

  • ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ 
  • ผู้ที่มีอาการร้อนใน ตัวร้อน 
  • ผู้ที่มีแผลผ่าตัด 
  • ผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อย 
  • ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียจากการตากแดด 
  • ผู้ที่มีประจำเดือน 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น (ควรปรึกษาแพทย์)
  • ผู้ที่มีอาการหรือปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ มีแผลพุพอง หรือผิวหนังเกิดแผลได้ง่าย 

การเผายา ข้อควรระวัง 

การเผายาเป็นการเพิ่มธาตุไฟด้วยการให้ความร้อนผ่านตัวยา เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงไม่เหมาะกับคนที่มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ตัวร้อน เพลียแดด หอบเหนื่อย มีแผลผ่าตัด ร้อนใน มีเลือดกำเดา มีประจำเดือน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะอุณหภูมิความร้อนจากไฟอาจส่งผลต่ออาการที่เป็นอยู่ให้กำเริบได้ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคผิวหนัง หรือผู้ที่มีปัญหาด้านผิวหนัง เช่น มีแผลพุพอง มีอาการผิวหนังอักเสบรุนแรง หรือผิวเป็นแผลได้ง่าย เพราะจุดไฟใกล้ผิวหนัง อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังจนทำให้เกิดแผลได้ 

ข้อห้าม

  • ห้ามอาบน้ำทันทีหลังผ่านการเผายา
  • ห้ามดื่มน้ำเย็น และงดอาหารที่มีฤทธิ์เย็นทุกประเภท 
  • ห้ามเผาไฟทุกวันหรือถี่เกินไป (ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์)

หากต้องการรักษาหรือปรับความสมดุลในร่างกายด้วยการเผาไฟ จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการการดูแลและรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ผู้ชำนาญการหัตถการโดยเฉพาะทางเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ เพราะเรื่องของไฟ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อันตรายถึงชีวิต 

(Visited 20 times, 1 visits today)
Last modified: December 8, 2023
Close