Written by 7:54 am การเมือง, ข่าวสาร, สิ่งแวดล้อม

ระวัง! อาบน้ำตอนฝนฟ้าคะนอง อาจเป็นอันตรายจากฟ้าผ่าได้

ทุกคนรู้ไหมว่าการอาบน้ำช่วงฝนตกฟ้าร้อง หรือช่วงที่พายุเข้าฟ้าร้องฟ้าผ่า แม้จะอยู่ในที่พักก็อาจโดดไฟดูดได้ ไม่ต่างอะไรจากการเล่นโทรศัพท์กลางแจ้งหรือการหลบใต้ต้นไม้

ซึ่งช่วงนี้ (28/09/22) ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็รายงานว่าพายุไต้ฝุ่นโนรูกำลังจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองได้ และเราจึงอยากมาเตือนว่าการใช้น้ำในช่วงนี้ควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ

อาบน้ำอยู่ในบ้าน โดนไฟดูดจากฟ้าผ่าได้อย่างไร?

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาฯ ได้มีคำเตือนยังประชาชนว่าให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมเกี่ยวข้องกับน้ำทุกรูปแบบในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า เหตุผลก็อธิบายด้วยกฎทางฟิสิกส์ “ทางที่แรงต้านน้อยที่สุด (path ogf least resistance)” กล่าวคือเมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้น กระแสไฟฟ้าจะไหลไปยังเส้นทางที่มีแรงต้านทานไฟฟ้า (ความเป็นฉนวนไฟฟ้า) น้อยที่สุดจนกว่าจะถึงพื้นและกระจายตัวออกไปจนกว่าพลังงานจะหมด

ในบ้านเรามีวัสดุที่เป็นโลหะอยู่เป็นจำนวนมาก และด้วยขนาดของบ้านจึงมีโอกาสสูงที่ฟ้าจะผ่าได้ และเมื่อฟ้าผ่าลงมายังบ้านของเรา กระแสไฟฟ้าจะไหลไปยังโลหะต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามบ้าน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นก๊อกน้ำ และเมื่อเราเปิดน้ำหรือสัมผัสน้ำในขณะที่ฟ้าผ่าพอดี กระแสไฟฟ้าจะไหลไปยังก๊อก และเข้าสู่ตัวเราผ่านทางน้ำ

และหากบ้านใครที่ใช้ฝีกบัวเป็นโลหะ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในช่วงฝนฟ้าคะนองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เว้นแม้แต่การแช่น้ำในอ่างที่ส่วนมากทำจากวัสดุเซรามิก ก็อาจเกิดการสะสมกระแสไฟฟ้าได้

หากจำเป็นต้องอาบน้ำในช่วงฝนฟ้าคะนอง ควรหลีกเลี่ยงอย่างไร?

โดยปกติแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนองเราก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำให้มากที่สุดจนกว่าพายุจะสงบลง แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ วิธีการก็คือรออย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหลังจากได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งสุดท้าย เพราะฟ้าร้องเกิดจากการไหลเวียนอากาศและพลังงานอย่างรวดเร็วภายในก้อนเมฆ ซึ่งเหตุการณ์นี้้มักจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หากผ่านไปมากกว่าครึ่งชั่วโมงยังไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องเพิ่มเติม ก็เป็นไปได้ว่าพลังงานข้างบนนั้นอ่อนลงแล้ว

สำหรับประเทศไทย การหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่าค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะเราอยู่ในภูมิภาคที่เกิดมรสุมอยู่เป็นประจำ แม้จะติดตั้งสายล่อฟ้าแล้ว เราก็ยังต้องหลีกเลี่ยงการออกไปในพื้นที่โล่งแจ้งอยู่ดี และควรงดการสัมผัสกับอุปกรณ์นำไฟฟ้าทั้งหลายด้วย

หากตัวเราบังเอิญอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งพอดีตอนเกิดฝนฟ้าคะนอง และไม่สามารถเข้าหลบในอาคารได้ทันที ข้อแนะนำคือย่อตัวให้ต่ำที่สุด ก้มศีรษะลง และปิดหูไว้ และหาอาคารเข้าไปหลบไว้เร็วที่สุด ข้อห้ามที่สุดคือห้ามหลบใต้ต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่หรือสูง เพราะจะเกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าให้ฟ้าผ่าลงต้นไม้ได้

เกร็ดความรู้เรื่องฟ้าผ่า

  • เราสามารถคำนวณระยะห่างระหว่างตัวเรากับฟ้าที่จะผ่าลงมาได้ โดยเราสามารถนับวินาทีระหว่างการเกิดฟ้าแลบกับเสียงฟ้าร้อง แล้วแบ่งออกเป็น 5 วินาที โดยหากมีเสียงฟ้าร้องตามมาหลังจากการเกิดฟ้าแล่บ หมายถึงฟ้าผ่าที่จุดใดจุดหนึ่งห่างจากเราไป 1 ไมล์ หรือราวๆ 1.6 กิโลเมตร หากได้ยินทันทีแสดงว่าใกล้เรามากๆ ควรหลบเข้าไปภายในอาคารโดยเร็ว
  • โลหะชิ้นเล็กๆ ไม่ได้ล่อฟ้ามายังที่ตำแหน่งที่มันอยู่ รวมถึงการใช้โทรศัพท์ขณะฟ้าร้องด้วย จริงอยู่ว่าโลหะคือสื่อนำไฟฟ้าที่ดี แต่ฟ้าไม่ได้ผ่าลงตัวนำไฟฟ้าเสมอไป ไม่งั้นเราก็สามารถหลบใต้ต้นไม้แล้วปลอดภัยได้ หรือเราก็คงได้ได้ยินว่าฟ้าผ่ารถยนต์ขณะวิ่งในช่วงฝนฟ้าคะนองกันบ่อยแน่ๆ เพราะรถทั้งคันทำมาจากเหล็กกล้า
  • แต่อย่างไรก็ตาม โลหะก็ยังอันตรายเมื่อถูกฟ้าผ่าอยู่ดี เพราะกระแสไฟฟ้าจะทำให้โลหะชิ้นนั้นเกิดความร้อนสูงในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผิวหนังไหม้จนเกรียมได้
  • เราสามารถแยกฟ้าผ่าออกได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ
    • ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ
    • ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง
    • ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุลบออกจากก้อนเมฆ จึงเรียกว่าฟ้าผ่าแบบลบ (negative lightning) 
    • ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุบวกออกจากก้อนเมฆ จึงเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก (positive lightning)
  • ซึ่งฟ้าผ่าแบบบวกจะสามารถผ่าได้ไกลจากจุดตั้งต้นได้ไกลถึง 40 กิโลเมตร ทำให้แม้อากาศข้างบนจะดูปลอดโปร่ง ไร้เมฆให้เห็น แต่เราก็ยังสามารถถูกฟ้าผ่าได้ จึงเป็นที่มาของวลี “a bolt out of the blue” หรือปัจจุบันพูดย่อๆ ว่า “out of the blue” ซึ่งภาษาไทยแปลว่าอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด ซึ่ง blue ก็หมายถึง sky blue หรือท้องฟ้าในตอนกลางวันที่ไม่มีเมฆข้างบนนั่นเอง
  • แม้ฟ้าผ่าแบบบวกจะเกิดขึ้นได้น้อย (น้อยกว่า 5% จากเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมด) แต่ก็มีความรุนแรงกว่าฟ้าผ่าแบบอื่นๆถึง 10 เท่า กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอาจสูงถึง 300,000 แอมแปร์ และความต่างศักย์ 1 พันล้านโวลต์เลยทีเดียว
(Visited 72 times, 1 visits today)
Last modified: September 28, 2022
Close