เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นเกี่ยวกับเซอร์วิสชาร์จ (service charge) กลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง เมื่อมีคนโพสต์ผ่านเฟซบุ้คว่า จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จ และทางร้านอาหารก็ไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเราก็จ่ายกันมาตลอด สรุปแล้วเราไม่ต้องจ่ายก็ได้จริงหรือ วันนี้เรามาลองเปิดข้อมูลกันดู ว่าตกลงแล้ว “เซอร์วิสชาร์จ” เราต้องจ่ายหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคต่อไป
เซอร์วิสชาร์จ (service charge) คืออะไร?
เซอร์วิสชาร์จ (service charge) คือสิ่งที่ร้านเรียกเก็บเพิ่มเติมจากค่าอาหาร จากการใช้บริการหรือซื้อสินค้าของทางร้าน เป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้พนักงานบริกรในแต่ละเดือน และถือว่าเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของพนักงาน
แต่จากการค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่า กฎหมายของไทยไม่ได้ระบุข้อบังคับเรื่องเซอร์วิสชาร์จอย่างชัดเจน ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ หรือเก็บได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ของค่าอาหาร เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถจัดเก็บได้ในอัตรา 7% ของราคาสินค้า โดยมีเพียง พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 ระบุไว้ว่าหากผู้ประกอบการขายจำหน่ายสินค้าในลักษณะที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างกลไกการตลาดที่บิดเบี้ยว ราคาเกินจริง โดยชี้แจงสาเหตุที่เรียกเก็บราคาสูงเกินจริงไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ๆๆ เหมือนว่าทางกรมการค้าภายในจะสามารถช่วยตอบคำถามคาใจของพวกเราได้
ข้อกำหนดจากกรมการค้าภายในเรื่องการเรียกเก็บค่า service charge
ทางกรมการค้าภายในมีการกล่าวถึงการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จไว้ด้วย เพื่อให้เป็นข้อกำหนดและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเราๆ
- ร้านค่าต้องแจ้งราคาสินค้าและบริการอย่างเปิดเผย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน หากไม่มีการติดราคา หรือมีแต่หลีกเลี่ยงทำให้มองเห็นได้อย่างไม่ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ร้านค้าที่ต้องการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ จะต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ โดยสามารถแจ้งไว้ที่หน้าร้านหรือในเมนูก็ได้ แต่ต้องทำให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธไม่จ่ายค่าบริการในส่วนนี้ได้
- อัตราการเรียกเก็บ service charge ที่เหมาะสม ตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่คือ ต้องไม่เกิน 10% เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได
สรุปว่า เรามีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จก็ได้ หากร้านค้าไม่แจ้งให้ทราบอย่างชัดเจน แต่หากร้านติดป้ายหรือแจ้งให้ทราบชัดเจน เราก็ต้องชัดเจนในการตัดสินใจของตัวเองตั้งแต่เลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่ และอาจมองตัวเลือกอื่นๆ หากมองว่าค่าบริการไม่เหมาะสมกับการบริการ ส่วนร้านค้าก็จำเป็นต้องจริงใจต่อผู้บริโภค ในแง่กฎหมายก็อาจผิดข้อกำหนดของกรมการค้าภายในได้ และในแง่ของการทำธุรกิจ ผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมอยู่แล้วหากเห็นว่าทางร้านมีการบริการอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นร้านค้าที่เก็บค่าบริการเพิ่มเติมมากกว่า 10% เราไม่ควรแค่ไปหาร้านอื่น แต่ควรทำการแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1666