เมื่อกำลังจะหายใจโล่งขึ้น หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มถดถอยจากโรคอุบัติใหม่ สู่ โรคประจำฤดูกาล (Pandemic สู่ Endemic) และเมื่อพายุฝนเริ่มซา แต่น้ำยังคงนอง มวลอากาศเย็นเริ่มย่างกราย แต่กลับแฝงด้วย ฝุ่น PM 2.5 มาด้วย ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยในขณะนี้เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) หลายแห่งด้วยกัน
โดยปกติค่ามาตรฐานในบรรยากาศ คือ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร และ ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร
สาเหตุฝุ่น PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่
1. แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น
2. แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น ปฏิกิริยาเคมีในอากาศ โดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ ไนโตรเจน และ แอมโมเนีย เป็นสารตั้งต้น รวมถึงสารเคมีอันตรายต่าง ๆ เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และ สารก่อมะเร็งต่าง ๆ
ทำไมฝุ่น PM 2.5 ไม่หายไปสักที
ฝุ่นละองไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหรือเกินค่ามาตรฐานครั้งแรก แต่มันคงมีอยู่และจางหายไป และวนเวียนกลับมาใหม่ได้เสมอเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม อย่างในครั้งนี้ มีมวลอากาศเย็นที่ไทยได้รับผลกระทบจากอากาศเย็นค่อนข้างแรงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม จนกระตุ้นให้ค่าฝุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น หมุนเวียนเป็นวัฏจักรมานานหลายปี
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ PM 2.5 ไม่เคยหายไปไหน คือ เรายังคงมีการสร้างมลพิษทางอากาศ และไม่มีการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายฝุ่นมลภาวะทางอากาศไม่มีการหมุนเวียนและถ่ายเท
ฝุ่น PM 2.5 อันตรายและมีผลต่อสุขภาพอย่างไร
เห็นว่าเป็นเพียงแค่ละอองฝุ่นเล็ก ๆ แต่อนุภาพความอันตรายนั้นถือว่าร้ายแรงต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ด้วยความเล็กจิ๋วจนสามารถผ่านการกรองของขนจมูก และเข้าไปสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างฉับพลัน แต่จะใช้เวลาสะสมช่วงระยะหนึ่งจึงจะก่ออาการของโรคให้เห็น นับว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว ซึ่งฝุ่น PM 2.5 จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่น ๆ เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ฯลฯ เข้าสู่ปอด ด้วยการให้สารเหล่านั้นมาเคลือบกับผิวของมันนั่นเอง
รู้ได้อย่างไรว่ากำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
แม้ว่าฝุ่นละอองจิ๋วนี้มักจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ก็มีบางกรณีที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะสั้นได้เช่นกัน และสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น pm 2.5 ที่ว่านี้ สังเกตได้ดังนี้
- ระบบผิวหนัง มีผื่นคัน ลมพิษ ผิวหน้าเหี่ยว แพ้ง่าย เกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้ม
- ระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มะเร็งปอด
- โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง
- มีผลต่อการพัฒนาการสติปัญญาของเด็ก
- กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
- ส่งผลถึงทารกในครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือมีการเจริญเติบโตช้า
3 วิธีป้องกันและการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5
1. ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพ เช่น N95 หรือหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น และควรสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง โดยสวมให้ปิดแนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน
2. อยู่ในบ้าน อาคาร และสถานที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่นน้อยลง
3. เลือกใช้เครื่องกรองอากาศที่มีคุณสมบัติช่วยกรองฝุ่น pm 2.5 ได้ ส่วนในพื้นที่ไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดพัดลมร่วมกับเครื่องฟอกอากาศ โดยปิดห้องให้มิดชิด เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในห้อง
ในขณะที่โควิด-19 ก็ยังไม่หายไปไหน ส่วนฝุ่นร้าย PM 2.5 ก็กลับมาแวะเวียนทักทายอีกรอบ ประกอบกับอากาศชื้น อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอและป่วยได้ง่าย จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดี และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ด้วยการใส่ใจทั้งในเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม และไม่ลืมที่จะสวมใส่หน้ากากทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน