จากกรณีที่มีแสงสีเขียวส่องสว่างไสวไปทั่วบริเวณน่านฟ้า เหนือเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนทำให้เกิดเสียงฮือฮาและมีคำถามตามมาว่า ใช่ แสงเหนือเมืองไทย หรือไม่ และได้มีนักวิชาการออกมาชี้แจง รวมถึงนักถ่ายภาพที่ได้ถ่ายแสงดังกล่าวออกมาชี้แจงว่า แสงสีเขียวที่ปรากฏขึ้นและหลายคนให้ความสนใจนั้น ไม่ใช่แสงเหนือตามที่เข้าใจ แต่มันคือ แสงจากเรือไดหมึก ซึ่งเรือตกหมึกหลายร้อยลำเปิดไฟสีเขียวตกหมึกกลางทะเล ทำให้ท้องทะเลและท้องฟ้า รวมไปถึงบริเวณชายหาดกลายเป็นสีเขียว แม้จะมีคำชี้แจงดังนี้ แต่ก็ยังมีการถกเถียงและคิดไปต่าง ๆ นา ๆ แต่คำตอบที่แท้จริงของปรากฏการณ์แสงสีเขียวดังกล่าวจะใช่ฝีมือมนุษย์หรือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แสงเหนือหรือแสงออโรร่า ประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดแสงเหนือได้หรือไม่ และแสงเหนือเกิดจากอะไร ไปติดตามข้อมูลที่ทาง Newsupdatez ได้รวบรวมมาฝากในวันนี้กันเลย
แสงเหนือคืออะไร
แสงเหนือ หรือ แสงออโรร่า คือ ปรากฏการณ์เรืองแสงบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน เกิดขึ้นในบริเวณใกล้กับขั้วสนามแม่เหล็กของโลกเท่านั้น โดยสามารถมองเห็นแสงได้ที่เหนือละติจูด 60 องศาเหนือ และต่ำกว่า 60 องศาใต้ ที่บริเวณแถบขั้วโลกเหนือ (แสงเหนือ) และ แถบขั้วโลกใต้ (แสงใต้) ซึ่งเรียกว่า Aurora หรือ แสงออโรร่า นั่นเอง
ออโรร่าแปลว่าอะไร
ชื่อวิทยาศาสตร์ตามปรากฏการณ์นี้ เป็นภาษาละติน ซึ่งตั้งโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) โดยคำว่า Aurora แปลว่า “แสงขั้วโลก” ใช้เรียกทั้งแสงเหนือและแสงใต้ โดยมีแยกย่อยเป็น Aurora Borealis แปลว่า แสงเหนือ (North Light) และ Aurora Australis แปลว่า แสงใต้ (Southern Light)
แสงเหนือเกิดที่ชั้นบรรยากาศใดและเกิดจากอะไร
แสงออโรร่าเกิดจากอนุภาคที่ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ชนเข้ากับโมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลกชั้นบนที่อยู่ใกล้กับอวกาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 100 – 300 กิโลเมตรจากพื้นดิน (Altitudes) จนทำให้โมเลกุลต่าง ๆ แตกตัวออกเป็นไอออน ปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง โดยเราจะมองเห็นเป็นสีใด จะขึ้นอยู่กับชนิดของโมเลกุลและระดับความสูงที่เกิดการชนกันระหว่างอนุภาคดังกล่าว
โดยโมเลกุลออกซิเจนจะให้แสงสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง เกิดขึ้นที่ระดับความสูงเหนือชั้นบรรยากาศ 100 – 200 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเห็นได้บ่อยที่สุด ขณะที่โมเลกุลฮีเลียมจะให้แสงสีฟ้าหรือสีชมพู ส่วนก๊าซไนโตรเจนจะให้แสงสีน้ำเงินหรือสีม่วง มักปรากฏที่ระดับความสูงเหนือชั้นบรรยากาศที่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร และขนาดของออโรร่า รวมไปถึงความชัดเจนของแสงจะขึ้นอยู่กับปริมาณอนุภาคที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา
เรามักจะพบแสงออโรร่าในช่วงเวลาใด
ช่วงเวลาที่มักจะเกิด Aurora คือ ช่วงฤดูหนาวของทางขั้วโลก ซึ่งตรงกับช่วงปลายกันยายน ตุลาคม มีนาคม และต้นเดือนเมษายน โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีระยะเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน และถ้าหากเป็นค่ำคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง มืดสนิท ไร้เมฆ ไร้มลพิษ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ยิ่งเพิ่มโอกาสในการมองเห็นแสงเหนือได้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลา 22.00 – 24.00 น.
เราสามารถพบแสงออโรร่าประเทศใดบ้าง
- ประเทศนอร์เวย์ โดยสามารถเห็นปรากฏการณ์แสงออโรร่าได้ที่เมือง Andenes ซึ่งสามารถมองเห็นแสงออโรราได้เกือบทุกคืนที่สภาพท้องฟ้าปลอดโปร่ง และที่เมือง Oslo จะปรากฏแสงเหนือให้เห็นประมาณ เดือนละ 3 คืน
- รัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา ที่เมือง Fairbanks (ช่วงปลายเดือนกันยายน – กลางเดือนเมษายน) โดยมีความถี่ในการปรากฏออโรร่าประมาณเดือนละ 5 – 10 ครั้ง
- ประเทศแคนาดา ที่ Yellowknife (ช่วงกลางเดือนกันยายน – เดือนเมษายน) มีความถี่ของแสงออโรรา ปีละ 2- 4 ครั้ง
- สกอตแลนด์เหนือ เดือนละครั้ง
- เม็กซิโก และ เมดิเตอเรเนียน มีโอกาสใน 1 รอบทศวรรษ หรือ 10 ปี จะเกิดแสงออโรร่าประมาณ 1 – 2 ครั้ง
- ประเทศตอนใต้ทะเลเมดิเตอเรเนียน มีโอกาสเกิดแสงออโรราให้เห็นได้ประมาณ 1 – 2 ครั้งในรอบศตรรษ
- แถบศูนย์สูตร มีโอกาสการเกิดออโรรา 1 ครั้งในรอบ 2,000 ปี
- ประเทศไอซ์แลนด์ (ปลายเดือนกันยายน – ต้นเดือนเมษายน)
- ประเทศสวีเดน และ ฟินแลนด์ (ช่วงเดือนกันยายน – ปลายเดือนมีนาคม)
- ประเทศกรีนแลนด์ (ช่วงกลางเดือนสิงหาคม – เดือนเมษายน)
- ประเทศนิวซีแลนด์ และ Tasmania สามารถเกิดออโรร่าได้ตลอดทั้งปี (ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ วันที่ช่วงระยะเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน)
อย่างไรก็ตาม จากหัวข้อถกเถียงและคำถามที่ค้างคาใจ แสงสีเขียวที่ปรากฏขึ้นบนน่านฟ้าเนินเขาพะเนินทุ่งจะใช่แสงเหนือเมืองไทยจริงไหม และประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดออโรร่าหรือไม่ เนื้อหาในบทความนี้คงเป็นคำตอบให้กับใครหลายคนได้บ้าง แต่เนื่องจากโลกใบนี้และในระบบห้วงจักรวาล ยังมีอีกหลายที่มนุษย์ยังต้องศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต คุณว่าจริงไหม?