เพราะ “ภาษี” เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน เราทุกคนจึงควรรู้และทำความเข้าใจถึงเรื่องของภาษีเอาไว้บ้าง เพื่อจะได้ไม่บกพร่องต่อหน้าที่่ของตนโดยไม่ตั้งใจ และเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ประโยชน์ของผู้เสียภาษีเช่นกัน
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีรายได้ในระหว่างปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบรายได้ธุรกิจออนไลน์ ระบบเงินเดือน หรือหน้าร้านออฟไลน์ โดยมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. บุคคลธรรมดา
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5. วิสาหกิจชุมชนตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีจะต้องทำอะไรบ้าง
- ขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีรายได้เกิดขึ้น กรณีที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน เป็นต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่มีการแบ่ง เว้นแต่ผู้มีรายได้ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรได้เลย กรณีที่ผู้มีรายได้มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง ส่วนผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ประจำจังหวัด และ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง แล้วแต่กรณี
- ยื่นแบบแสดงรายการปีละ 1 ครั้ง รายได้ของปีใด ก็ยื่นแบบขอภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่รายได้บางลักษณะ เช่น รายได้จากวิชาชีพ รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน รายได้จากธุรกิจ รายได้จากการรับเหมา เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี
บุคคลธรรมดาต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 โดยสองตัวนี้จะแตกต่างกันดังนี้
- ภ.ง.ด.90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการยื่นของผู้มีรายได้อื่น ๆ ทางเดียว หรือ ผู้มีเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ โดยจะต้องยื่นแบบภายใน 31 มีนาคมของทุกปี
- ภ.ง.ด.91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนมีเงินเดือน โบนัส หรือค่าครองชีพทางเดียว โดยจะต้องยื่นแบบภายใน 31 มีนาคมของทุกปี
เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี
โดยทางกฏหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า เงินได้พึงประเมิน ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีใด ๆ หรือเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษี อันได้แก่
- เงิน
- ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่ได้รับจริง
- ประโยชน์ที่สามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้
- เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
- เครดิตภาษีตามที่กฏหมายกำหนด