โดยปกติเมื่อมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ส่วนใหญ่เรามักจะหาซื้อยากินเอง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่สำหรับสำหรับใครที่มักจะมีปัญหากับสุขภาพช่องท้อง ปวดท้องบ่อย ๆ เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย ปวดแน่นท้องบ่อย ๆ ขับถ่ายไม่เป็นปกติ สีอุจจาระเปลี่ยนไป มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคบางชนิดที่การซื้อยากินเองไม่ช่วยให้หายได้ แต่ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงกับโรค ลองมาเช็กกันหน่อยว่าอาการที่เป็นอยู่ ใช่สัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคลำไส้อยู่หรือเปล่า
อาการปวดท้องแบบไหนที่อาจเป็นโรคลำไส้
- ขับถ่ายไม่เป็นปกติ การขับถ่ายไม่เป็นปกติ เช่น ไม่ขับถ่ายหลายวัน หรือปวดถ่ายแต่กลับถ่ายเหลวเหมือนท้องเสีย ซึ่งหากปล่อยให้เกิดอาการท้องผูกบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารร่วมด้วย
- ปวดท้องเฉียบพลัน อยู่ ๆ ก็ปวดท้องฉับพลันโดยไม่มีสาเหตุ และเกิดอาการมากกว่า 1 ครั้งในสัปดาห์
- ปวดแน่นท้องบ่อย ๆ มีอาการอึดอัด จุกเสียด ไม่สบายตัวเนื่องจากแก๊สในกระเพาะ ท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อย และมักจะมีอาการหลังจากทานอาหาร ต้องกินยาช่วยย่อยบรรเทาอาการอยู่บ่อย ๆ
- สีอุจจาระเปลี่ยนไป โดยอุจจาระสีดำหรือสีเข้ม มีลักษณะหนืดคล้ายยางมะตอย ทั้งที่ไม่ได้ทานวิตามินหรืออาหารเสริม อาจเป็นไปได้ว่ามีเลือดออกในลำไส้ แต่ถ้าหากอุจจาระมีสีแดงเพราะมีเลือดปน มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับโรคลำไส้ หรืออาจเป็นริดสีดวง แต่ถ้าอุจจาระสีเขียวและมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนร่วมด้วย เข้าข่ายของโรคลำไส้แปรปรวน
- มีอาการอ่อนเพลีย หากไม่ได้รู้สีกอ่อนเพลียเพราะพักผ่อนน้อย หรือเพราะทำงานหนัก แต่ร่างกายอ่อนเพลียแบบหาสาเหตุไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการทำงานผิดปกติของลำไส้ อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่วนใหญ่อยู่ในลำไส้ หากระบบการทำงานของลำไส้เสียสมดุล ระดับภูมิคุ้มกันก็จะต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจมีผื่นภูมิแพ้ได้ด้วยเช่นกัน
อาการแบบนี้เป็นโรคลำไส้ชนิดใด
โรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวน เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในผนังลำไส้ ก่อให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย รู้สึกปวดท้องหลังรับประทานอาหาร แต่อาการจะดีขึ้นหากได้ขับถ่าย
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน : ปรับพฤติกรรมการกิน ให้ยารักษาตามอาการ
โรคลำไส้อุดตัน
โรคลำไส้อุดตัน เกิดจากลำไสมีการบีบตัวผิดปกติ จนทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ จึงรู้สึกปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน จะปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้สะดือหากมีการอุดตันที่ลำไส้เล็ก และจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก ปวดท้องหรือมีเลือดออกทางทวารหนัก หากมีการอุดตันที่ลำไส้ใหญ่
การรักษาโรคลำไส้อุดตัน : ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ให้ยา การผ่าตัด
โรคลำไส้รั่ว
โรคลำไส้รั่ว เกิดจากภาวะเยื่อบุผนังลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้สิ่งแปลกปลอมสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจึงมีการกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน เพื่อให้กำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษ ส่งผลให้มีอาหารไม่ย่อย ท้องอืด และบางรายอาจมีผื่นแพ้ร่วมด้วย
การรักษาโรคลำไส้รั่ว : ปรับพฤติกรรมการกิน กินอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีต่อลำไส้
โรคมะเร็งลำไส้
โรคมะเร็งลำไส้ เกิดจากความผิดปกติในการแบ่งตัวเซลล์เยื่อบุผิวในลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีมากเกินไป จนกลายเป็นเนื้องอก และพัฒนาไปเป็นมะเร็ง แม้ว่าในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่อาจมีอาการปวดท้องคล้ายกับอาการโรคลำไส้ชนิดอื่น ๆ ดังนั้น ควรสังเกตน้ำหนักตัว หากน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกอ่อนเพลีย และอุจจาระมีเลือดปน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ : ให้ยา เคมีบำบัด รังสีรักษา ผ่าตัด
แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคลำไส้ชนิดใด อาการบ่งชี้ที่มีร่วมกัน คือ อาการปวดท้อง ดังนั้น เมื่อรู้สึกปวดท้องผิดปกติ หรือมีอาการคล้ายกับโรคลำไส้ชนิดใดก็ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ไม่ควรนิ่งนอนใจด้วยการซื้อยามาทานเอง แต่ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ให้หมอทำการวินิจฉัยและตรวจรักษาได้อย่างถูกวิธี และควรดูแลลำไส้ให้ห่างไกลโรค
ดูแลลำไส้อย่างไรให้ห่างไกลโรค
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์ กากใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- ดื่มน้ำให้มาก ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้น ลดปริมาณของเสียแห้งติดผนังลำไส้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้
- ออกกำลังกายด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น
- ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมสุดโปรด
หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายดี ทานอาหารดีมีประโยชน์ต่อลำไส้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคลำไส้ทุกประเภทได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีอาการปวดท้อง ต้องสังเกตอาการต่าง ๆ ให้แน่ชัด เพื่อจะได้รักษาอาการได้ตรงกับโรคนั่นเอง